เลื่อน

นายสิทธิศักดิ์ ปะวันเณ นิสิตชั้นปีที่ 2 รหัส 53010515009 สาขาการศึกษาพิเศษ SED คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา


อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
11 มีนาคม 2552
 ปัจจุบัน งานในด้านการศึกษาได้เจริญก้าวหน้าไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ประการ  เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ความรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น     แนวความคิดและแนวการเรียนการสอนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น    ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายของการศึกษา แต่ยังพบว่า ผู้บริหาร ครู  และผู้เกี่ยวข้องบางคน   ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ปัญหาดังกล่าวข้างต้นสามารถจะแก้ไขได้โดยอาศัยผู้นิเทศ หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งมีหน้าที่นิเทศการศึกษาให้ครูมีความเจริญงอกงามทางวิชาการ สามารถพึ่งตนเองได้      และนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  ดังนั้นเรื่องการนิเทศการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ศึกษานิเทศก์ควรจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจในหลักการ กระบวนการ  และวิธีการของการนิเทศการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการนิเทศการศึกษาดีขึ้น   จึงขอนำเอาความรู้เบื้องต้นของการนิเทศการศึกษามากล่าวถึงในรายละเอียดดังต่อไปนี้
 ความหมาย         
                คำว่า  การนิเทศ (Supervision)   แปลว่า การให้ความช่วยเหลือแนะนำ   หรือปรับปรุง  ดังนั้น การนิเทศการศึกษาก็น่าจะหมายถึงการให้ความช่วยเหลือแนะนำ    หรือปรับปรุงเกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียน   ได้มีผู้ให้ความหมายคำว่า     การนิเทศการศึกษาไว้แตกต่างกันดังนี้
                สเปียร์ส (Spears)  ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า     การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนของครู   โดยการทำงานร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนี้ เป็นกระบวนกระตุ้นความเจริญก้าวหน้าของครู และมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือครู     เพื่อช่วยให้ครูได้ช่วยตนเองได้
                กูด  (Good)  ได้ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาว่า เป็นความพยายามของผู้ทำหน้าที่นิเทศที่จะช่วยในการให้คำแนะนำแก่ครู   หรือผู้อื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้สามารถปรับปรุงการสอนของตนให้ดีขึ้น  ช่วยให้เกิดความเจริญงอกงามในด้านอาชีพ  ช่วยพัฒนาความสามารถของครู
                แฮร์ริส  (Harris)  ได้กล่าวถึงความหมายของการนิเทศการศึกษาว่า   หมายถึงสิ่งที่บุคลากรในโรงเรียนกระทำต่อบุคคลหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะคงไว้  หรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการดำเนินการเรียนการสอนในโรงเรียน  มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการสอนเป็นสำคัญ
                มาคส์  และสทูปส์  (Marks  and  Stoops)  ได้กล่าวถึงการนิเทศการศึกษาว่า  คุณค่าของการนิเทศการศึกษาอยู่ที่การพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์  และส่งผลสะท้อนไปถึงการพัฒนานักเรียนด้วย
                 ชาญชัย  อาจิณสมาจาร  ได้ให้คำจำกัดความว่า  การนิเทศการศึกษา  คือกระบวนการสร้างสรรค์ ที่ไม่หยุดนิ่งในการให้คำแนะนำ  และการชี้ช่องทางในลักษณะที่เป็นกันเองแก่ครูและนักเรียน   เพื่อการปรับปรุงตัวของเขาเองและสภาพการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษาที่พึงประสงค์
                สันต์  ธรรมบำรุง  ได้ให้ความหมายว่า  การนิเทศการศึกษา  หมายถึงการช่วยเหลือ  การแนะนำการชี้แจง  การบริการ  การปรับปรุงที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  ในการที่จะส่งเสริมให้ครูปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น
                 ดังนั้น  จึงอาจสรุปความหมายของการนิเทศการศึกษา  หมายถึง  กระบวนการพัฒนาครู  เพื่อให้ครูปรับปรุงและพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้     เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้
              การนิเทศการศึกษาจึงเป็นกระบวนการในการแนะนำช่วยเหลือ  ครู   ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งการนิเทศนั้นอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย  ได้แก่    การเคารพซึ่งกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ
                 การนิเทศการศึกษาจัดขึ้นเพื่อปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น   ในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้จะสำเร็จได้ผลดีเพียงไรนั้น    ย่อมขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของศึกษานิเทศก์ผู้ทำงานร่วมกับครู  ตลอดจนเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ  ที่ศึกษานิเทศก์นำมาใช้ในการนิเทศการศึกษาโดยให้ครูมีโอกาสค้นคว้างานที่จะต้องทำด้วยตนเอง  เพื่อให้เกิดความงอกงามขึ้น เมื่อได้เรียนรู้และมีความเจริญงอกงามแล้ว      ย่อมจะได้รู้จักปรับปรุงงานด้านการเรียนการสอนให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น      การนิเทศการศึกษามิใช่เน้นการปรับปรุงตัวครู     โดยเห็นว่า  ครูยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ในการสร้างความเจริญงอกงามให้แก่ผู้เรียน    หากแต่ให้ความสำคัญไปถึงนโยบายการศึกษา  จุดประสงค์ของการให้การศึกษา  การพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรที่ใช้  วัสดุอุปกรณ์การสอนและวิธีสอนของครู  สิ่งแวดล้อมของครูและผู้เรียนในขณะที่เรียน  ตลอดจนปัญหาด้านต่าง ๆ ในส่วนตัวครูและผู้เรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในขอบเขตการนิเทศการศึกษาทั้งสิ้น

ความจำเป็นในการนิเทศการศึกษา
                ความจำเป็นในการนิเทศการศึกษามีดังนี้
·         1) สภาพสังคมเปลี่ยนไปทุกขณะ การศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย     การนิเทศการศึกษาจะช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์การที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
·         2) ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง แม้แนวคิดในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา  การนิเทศการศึกษาจะช่วยทำให้ครูมีความรู้ทันสมัยอยู่เสมอ
·         3) การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาขึ้น จำเป็นต้องได้รับการชี้แนะหรือการนิเทศการศึกษาจากผู้ชำนาญการโดยเฉพาะ จึงจะทำให้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วง
·         4) การศึกษาของประเทศเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ จะต้องมีการควบคุมดูแลด้วยระบบการนิเทศการศึกษา
·         5) การศึกษาเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องมีการนิเทศ เพื่อเป็นการให้บริการแก่ครูที่มีความสามารถต่าง ๆ กัน
·         6) การนิเทศการศึกษาเป็นงานที่มีความจำเป็นต่อความเจริญงอกงามของครู แม้ว่าครูจะได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีแล้วก็ตาม  แต่ครูก็จะต้องปรับปรุงฝึกฝนตนเองอยู่เสมอในขณะที่ทำงานในสถานการณ์จริง
·         7) การนิเทศการศึกษา มีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือครูในการเตรียมการจัดกิจกรรม
·         8 ) การนิเทศการศึกษามีความจำเป็นต่อการทำให้ครูเป็นบุคคลที่ทันสมัยอยู่เสมอ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีอยู่เสมอ
                ด้วยเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น ผู้มีหน้าที่นิเทศจึงควรจะต้องจัดดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือครูให้มีความสามารถในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้ครูก้าวทันโลกที่กำลังเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่

ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา
                ดร.สงัด  อุทรานันท์  (2530)  ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาว่า  มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 4 ประการ  ดังนี้
                1)  เพื่อพัฒนาคน
                2)  เพื่อพัฒนางาน
                3)  เพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์
                4)  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
                การนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนาคน  หมายถึง การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันกับครูและบุคลากรทางการศึกษา   เพื่อให้ครูและบุคลากร   ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
                การนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนางาน  หมายถึง  การนิเทศการศึกษา  มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา  โดยเหตุนี้การนิเทศที่จัดขึ้นจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะ พัฒนางาน”  คือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีขึ้น
                การนิเทศการศึกษาเพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์  หมายถึง  การนิเทศการศึกษา  เป็นการสร้างการประสานสัมพันธ์  ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ  ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกัน  รับผิดชอบร่วมกันมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำงานภายใต้การถูกบังคับและคอยตรวจตราหรือคอยจับผิด
                การนิเทศการศึกษาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ   หมายถึง  การจัดกิจกรรมการนิเทศที่มุ่งให้กำลังใจแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา  ซึ่งถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนิเทศ  เนื่องจากขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลมีความตั้งใจทำงาน หากนิเทศไม่ได้สร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว  การนิเทศการศึกษาก็ย่อมประสบผลสำเร็จได้ยาก

ผู้ทำหน้าที่นิเทศการศึกษา
                บุคคลที่ทำหน้าที่นิเทศการศึกษา  ไม่จำเป็นต้องเป็นศึกษานิเทศก์แต่ผู้เดียว  ใครก็ได้ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ  แนะนำ  ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการเรียนการสอน  ในปัจจุบันบุคคลผู้ทำหน้าที่นิเทศการศึกษาได้มีหลายกลุ่ม  ดังนี้
·         1. ศึกษานิเทศก์ คือบุคคลที่มีหน้าที่ในการนิเทศการศึกษาโดยตำแหน่ง
·         2. ผู้บริหารสถานศึกษา
·         3. ครู อาจให้ความช่วยเหลือแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่เพื่อนครูด้วยกัน
·         4. ผู้เชี่ยวชาญ คือบุคคลที่สถานศึกษาเชิญมาเป็นวิทยากร เพื่อช่วยเหลือแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
·         5.  ผู้บริหารการศึกษา

หน้าที่ของศึกษานิเทศก์
                แฮริส  (Harris)  ได้แบ่งหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ไว้ดังนี้
·         1) หน้าที่ทางการสอน (Teaching Function) เป็นหน้าที่หลัก ศึกษานิเทศก์จะต้องทำงานที่เกี่ยวกับการสอนโดยตรง  นั่นคือช่วยเหลือ  แนะนำ  เกี่ยวกับวิธีการสอนที่ดีให้กับครูรวมตลอดถึงการวัดและประเมินผลด้วย
·         2) หน้าที่จัดบริการ (Special Service Function) เป็นการช่วยเหลือแนะนำเกี่ยวกับการบริการให้แก่นักเรียนโดยตรง  ได้แก่  หน่วยสุขภาพพลานามัย  การแนะแนว  บริการจิตบำบัด  และสันทนาการเป็นต้น
·         3) หน้าที่จัดอำนวยการ (Management Function) เป็นการช่วยเหลือในเรื่องการจัดดำเนินงานในด้านธุรการทั่วไป  เกี่ยวข้องกับคณะบุคคล  เป็นการเกี่ยวพันโดยทางอ้อมกับการเรียนการสอน
·         4) หน้าที่การนิเทศ (Supervision Function) เป็นงานเกี่ยวกับการนิเทศการติดต่อ ประสานงานเป็นงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนการสอน  ศึกษานิเทศก์จะทำงานร่วมกับครู
·         5) หน้าที่บริหารงานทั่วไป (General Administration Function) เป็นหน้าที่เกี่ยวกับงานบริหารในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป  ที่ศึกษานิเทศก์จะช่วยเหลือโรงเรียนได้
               วไรรัตน์  บุญสวัสดิ์  ได้กล่าวถึงภาระหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ว่ามีดังนี้
·         1) ช่วยเหลือครูในการพัฒนาและปรับปรุงตนเอง
·         2) ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงหลักสูตร
·         3) ช่วยเหลือครูในการปรับปรุงการสอนของตนให้ดีขึ้น
·         4) เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา ซึ่งมีอยู่ในโรงเรียนได้ช่วยเหลือเพื่อนครู
·         5) ส่งเสริมให้คณะครูมีความสนใจในอุปกรณ์การสอน
·         6) ช่วยเหลือครูในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้เรียนให้ดีขึ้น
·         7) ช่วยเหลือครูในการประเมินผลผู้เรียน
·         8 ) ส่งเสริม ยั่วยุให้ครูรู้จักประเมินผลโครงการการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าของตน
·         9) ช่วยให้ครูประสบผลสำเร็จและมีความรู้สึกมั่นคง
      อาคม  จันทสุนทร  ได้สรุปบทบาทและหน้าที่ของผู้นิเทศการศึกษาไว้เป็น 2 ประเด็นคือ 
·         1) บทบาทในฐานะที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยคิดของผู้บริหารการศึกษา หมายถึงเป็นผู้ช่วยในการวางแผนดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งช่วยเหลือในการตัดสินใจของผู้บริหาร
·         2) บทบาทในฐานะที่เป็นผู้ทำให้สถานการณ์การเรียนการสอนที่ครูจัดอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นิเทศการศึกษาในบทบาทนี้จะพยายามมีกิจกรรมให้ครูได้เรียนรู้  และปฏิบัติในด้านการเรียนการสอนให้บังเกิดผลดียิ่งขึ้นเหมือนเป็นครูของครู
                กระทรวงศึกษาธิการ  โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  (ก.ค.ศ.)  ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์ (2548) ดังนี้
 หน้าที่และความรับผิดชอบ
                ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาการ  และงานนิเทศการศึกษาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานการศึกษา  ค้นคว้าทางวิชาการ  และวิเคราะห์  วิจัย  ติดตาม  ตรวจสอบและประเมินผล  เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
 ลักษณะงานที่ปฏิบัติ
·         1.  การนิเทศการศึกษา  โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหารหลักสูตรสถานศึกษา  จัดกระบวนการเรียนรู้  มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาชาติ  พัฒนาการวัดและประเมินผลการศึกษา  การพัฒนาสื่อ  นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ
·         2. การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ เพื่อจัดทำเป็นเอกสาร คู่มือ และสื่อใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแพร่ให้ครูได้ใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอน
·         3. การวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา  เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการ  พัฒนามาตรฐาน  และการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน  และเผยแพร่แก่ผู้บริหารสถานศึกษา  ครู  และผู้สนใจทั่วไป
·         4. การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล เพื่อเป็นข้อมูล และสารสนเทศในการวางแผนนิเทศและพัฒนางานทางวิชาการ
·         5. ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
                คณะกรรมการคุรุสภา  (2549)  ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของศึกษานิเทศก์  ดังนี้   ผู้ประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์  ต้องปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน  ดังต่อไปนี้
·         1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาการนิเทศการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา
·         2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมการนิเทศการศึกษา โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้รับการนิเทศ
·         3) มุ่งมั่น พัฒนาผู้รับการนิเทศให้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมจนเกิดผลต่อการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
·         4) พัฒนาแผนการนิเทศให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
·         5) พัฒนาและใช้นวัตกรรมการนิเทศการศึกษาจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ
·         6) จัดกิจกรรมการนิเทศการศึกษาโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้รับการนิเทศ
·         7) รายงานผลการนิเทศการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ
·         8 ) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
·         9) ร่วมพัฒนางานกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์
·         10) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
·         11) เป็นผู้นำและสร้างผู้นำทางวิชาการ
·         12) สร้างโอกาสในการพัฒนางานได้ทุกสถานการณ์

ประเภทของงานนิเทศการศึกษา
                การนิเทศการศึกษา  อาจแบ่งออกตามวิธีปฏิบัติงานเป็น  4  ประเภท
·         1) การนิเทศเพื่อการแก้ไข (Correction) เป็นการนิเทศที่เกิดจากการพบข้อผิดพลาดและบกพร่องก็ให้หาทางช่วยแก้ไขโดยวิธีการต่าง ๆ
·          2)  การนิเทศเพื่อป้องกัน  (Preventive)  เป็นการนิเทศที่พยายามหาวิธีการต่าง ๆ มาจัดดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
·         3)  การนิเทศเพื่อก่อ  (Construction)  เป็นการนิเทศที่เกิดจากความพยายามที่จะกระทำในทางที่เหมาะสมเพื่อความเจริญเติบโตในอนาคต  เช่น  การใช้ระเบียบวิธีสอนที่ดีเป็นประจำ  ช่วยให้กำลังใจช่วยกระตุ้นให้ครูทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง
·         4)  การนิเทศเพื่อการสร้างสรรค์ (Creation)  เป็นการนิเทศที่พยายามจะคิดสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดมีขึ้นในโรงเรียน
  
หลักสำคัญของการนิเทศการศึกษา
                บริกส์  และจัสท์แมน  (Briggs  and  Justman)  ได้เสนอหลักการนิเทศสำหรับผู้บริหารไว้ดังนี้
·         1) การนิเทศการศึกษาต้องเป็นประชาธิปไตย
·         2) การนิเทศการศึกษาจะต้องเป็นการส่งเสริม และการสร้างสรรค์
·         3) การนิเทศการศึกษาควรจะต้องอาศัยความร่วมมือของวิทยากรหลายคนมากกว่าที่จะแบ่งผู้นิเทศออกเป็นรายบุคคล
·         4) การนิเทศการศึกษา ควรตั้งอยู่บนรากฐานของการพัฒนาวิชาชีพมากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล
·         5) การนิเทศการศึกษา จะต้องคำนึงถึงความถนัดของแต่ละบุคคล
·         6) จุดมุ่งหมายสูงสุดของการนิเทศการศึกษา คือหาทางช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความสามารถตามความมุ่งหมายของการศึกษา
·         7) การนิเทศการศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องอยู่กับการส่งเสริมความรู้สึกอบอุ่นให้แก่ครู และการสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีระหว่างหมู่คณะ
·         8 ) การนิเทศการศึกษาควรเริ่มต้นจากสภาพการณ์ปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่
·         9) การนิเทศการศึกษาควรเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้า และความพยายามของครูให้สูงขึ้น
·         10) การนิเทศการศึกษาควรเป็นการส่งเสริมและปรับปรุงสมรรถวิสัย ทัศนคติ และข้อคิดเห็นของครูให้ถูกต้อง
·         11) การนิเทศการศึกษา พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำอย่างเป็นพิธีการมาก ๆ
·         12) การนิเทศการศึกษาควรใช้เครื่องมือ และกลวิธีง่าย ๆ
·         13) การนิเทศการศึกษาควรตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล
·         14) การนิเทศการศึกษาควรมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน และสามารถประเมินผลได้ด้วยตนเอง
               เบอร์ตัน  และบรุคเนอร์  (Burton  and  Brueckner)  ได้สรุปหลักการนิเทศการศึกษาไว้ 4 ประการ คือ
·         1) การนิเทศการศึกษาควรมีความถูกต้องตามหลักวิชา การนิเทศการศึกษาที่ดีควรจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์  และนโยบายที่วางไว้  ควรเป็นไปตามความจริงและกฎเกณฑ์ที่แน่นอน
·         2) การนิเทศการศึกษาควรเป็นวิทยาศาสตร์ การนิเทศการศึกษาควรเป็นไปอย่างมีระเบียบมีการปรับปรุงและประเมินผล  การนิเทศควรจะมาจากการรวบรวมข้อมูล  และการสรุปผลอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่เชื่อถือได้
·         3) การนิเทศการศึกษาควรเป็นประชาธิปไตย การนิเทศการศึกษาจะต้องเคารพในความแตกต่างของบุคคล  เน้นความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงาน  และใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเพื่อให้งานนั้นไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ 
·         4) การนิเทศการศึกษาควรจะเป็นการสร้างสรรค์ การนิเทศการศึกษาควรเป็นการแสวงหาความสามารถพิเศษของบุคคล  แล้วเปิดโอกาสให้ได้แสดงออกและพัฒนาความสามารถเหล่านั้นอย่างเต็มที่
                ไวลส์  (Wiles)  ได้เสนอแนะหลักการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้
·         1) ให้ความสำคัญกับครูทุกคนและทำให้เห็นว่าต้องการความช่วยเหลือจากเขา
·         2) แผนงานหรือความเจริญก้าวหน้าเป็นผลจากการทำงานเป็นทีม
·         3) หาโอกาสพบปะสังสรรค์เป็นกันเองกับครูโดยสม่ำเสมอ
·         4) เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นและส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่ม
·         5) เป็นมิตรไมตรีกับบุคคลทั่วไป
·         6) ปรึกษากับหมู่คณะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันจะพึงมี
·         7) พิจารณาสภาพที่เป็นปัญหาของสมาชิก อาจจะซักถามสัมภาษณ์หรือให้คณะครูเสนอปัญหาที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
·         8) หากศึกษานิเทศก์กระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวา หมู่คณะย่อมจะเป็นเช่นกัน
·         9) บทบาทการนำของศึกษานิเทศก์คือ การประสานงานและการช่วยเหลือทางวิชาการ
·         10) ฟังมากกว่าพูด
·         11) การปฏิบัติงานเริ่มด้วยปัญหาของสมาชิก
·         12) วางแผนปฏิบัติงานของหมู่คณะไว้
·         13) ตำแหน่งหน้าที่มิได้ทำให้ศึกษานิเทศก์ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือความเป็นมิตรไมตรีกับหมู่คณะต้องชะงักงัน
·         14) พยายามใช้ประสบการณ์ด้านความสามารถต่าง ๆ ของครูอาวุโสให้เกิดประโยชน์ในการนิเทศมากที่สุด
·         15) ตัดสินใจแน่วแน่ทันต่อเหตุการณ์
·         16) เอาใจใส่รู้งานในหน้าที่ดี
·         17) สำรวจและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
·         18) สนใจในสวัสดิภาพของสมาชิก
·         19) มีความรับผิดชอบ ปลูกฝังความรับผิดชอบให้แก่หมู่คณะ
·         20) สนใจในสวัสดิภาพของสมาชิก
               มาร์ค  และคณะ  (Marks)  ได้ให้หลักเบื้องต้นของการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้
·         1) การนิเทศการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
·         2) การนิเทศการศึกษา ต้องถือหลักว่าเป็นการบริการ ซึ่งครูเป็นผู้ใช้บริการ
·         3) การนิเทศการศึกษา ควรสอดคล้องกับความต้องการของครู
·         4) การนิเทศการศึกษา ควรเป็นการสร้างสรรค์ทัศนคติ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศ
·         5) การนิเทศการศึกษา ควรเน้นให้เห็นความสำคัญของงานวิจัย และพยายามหาทางให้ครูศึกษางานวิจัย  แล้วนำมาปฏิบัติตามนั้น
·         6) การนิเทศการศึกษา ควรยึดหลักการประเมินผลการนิเทศทั้งผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ
               วินัย  เกษมเศรษฐ์  ได้กล่าวไว้ว่า  การนิเทศการศึกษาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยหลักการต่าง ๆ ดังนี้
·         1) หลักสภาพผู้นำ (Leadership) คือการใช้อิทธิพลของบุคคลที่จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเป็นไปตามเป้าประสงค์
·         2) หลักความร่วมมือ (Cooperation) คือการกระทำร่วมกัน และรวมพลังทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาด้วยกัน  โดยยอมรับและยกย่องผลของความร่วมมือในการปรับปรุงการเรียนการสอนจากหลายฝ่ายและทำหน้าที่และความรับผิดชอบชัดแจ้งในการจัดองค์การ    การประเมินผล      ตลอดจนการประสานงาน
·         3) หลักการเห็นใจ (Considerateness) คือการนิเทศการศึกษาจะต้องคำนึงถึงตัวบุคคลที่ร่วมงานด้วยการเห็นใจ  จะทำให้ตระหนักในคุณค่าของมนุษยสัมพันธ์
·         4) หลักการสร้างสรรค์ (Creativity) คือการนิเทศการศึกษา จะต้องทำให้ครูเกิดพลังที่จะคิดเริ่มสิ่งใหม่ ๆ แปลก ๆ หรือทำงานด้วยตนเองได้
·         5) หลักการบูรณาการ (Integration) เป็นกระบวนการซึ่งรวมสิ่งกระจัดกระจายให้สมบูรณ์มองเห็นได้
·         6) หลักการมุ่งชุมชน (Community) เป็นการแสวงหาปัจจัยที่สำคัญในชุมชน และการปรับปรุงปัจจัยเหล่านั้น  เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น
·         7) หลักการวางแผน (Planning) หมายถึงกระบวนการวิเคราะห์ซึ่งเกี่ยวกับการแสวงผลในอนาคตการกำหนดจุดประสงค์ที่ต้องการล่วงหน้า  การพัฒนาทางเลือกเพื่อปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดประสงค์และการเลือกทางปฏิบัติให้เหมาะสมที่สุด
·         8 ) หลักการยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ความสามารถที่จะถูกเปลี่ยนแปลงได้ และพร้อมอยู่เสมอที่จะสนองความต้องการสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
·         9) หลักวัตถุวิสัย (Objectivity) หมายถึงคุณภาพที่เป็นผลจากหลักฐานตามสภาพความจริงมากกว่าความเห็นบุคคล
·         10) หลักการประเมินผล (Evaluation) หมายถึงการหาความจริงโดยการวัดที่แน่นอน และหลายอย่าง
                วิจิตร   วรุตบางกูร  และคณะ  ได้เสนอแนะหลักสำคัญในการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้
·         1) หาทางให้ครูรู้จักช่วยและพึ่งตัวเอง ไม่ใช่คอยจะอาศัยและหวังพึ่งศึกษานิเทศก์หรือคนอื่นตลอดเวลา
·         2) ช่วยให้ครูมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถที่จะวิเคราะห์และแยกแยะปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองได้
·         3) ต้องทราบความต้องการของครู แล้ววางแผนการนิเทศเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น ๆ
·         4) ศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของครู และทำความเข้าใจกับปัญหานั้น ๆ แล้วพิจารณาหาทางช่วยแก้ไข
·         5) ชักจูงให้ครูช่วยกันแยกแยะและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน
·         6) การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน ควรเปิดโอกาสให้ครูได้ใช้ความคิดและลงมือกระทำเองให้มากที่สุด
·         7) รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของครู แล้วนำมาพิจารณาร่วมกัน
·         8 ) ช่วยจัดหาแหล่งวิทยากร อุปกรณ์การสอน ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่ครู
·         9) ช่วยจัดหาเอกสาร หนังสือ และตำราต่าง ๆ ให้แก่ครู
·         10) ช่วยให้ครูรู้จักจัดหาหรือจัดทำวัสดุอุปกรณ์การสอนที่ขาดแคลนด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่
·         11) หาทางให้สถานศึกษา ชุมนุมชน และหน่วยงานที่ใกล้เคียง มีความสัมพันธ์กันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
·         12) ต้องยอมรับนับถือบุคลากรที่ร่วมงานในโรงเรียนนั้น ๆ และแสดงให้เขาเห็นว่าเขามีความสำคัญในสถานศึกษานั้น ๆ ด้วย
·         13) ช่วยให้ครูได้แถลงกิจกรรม และผลงานต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้ชุมชนทราบโดยสม่ำเสมอ
·         14) ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาในส่วนที่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกันและกัน
·         15) ช่วยประสานงานระหว่างสถานศึกษากับองค์การหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
·         16) รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาทำการวิเคราะห์และวิจัย
·         17) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ของการศึกษาอย่างแจ่มแจ้ง เพื่อจะได้ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย

กระบวนการนิเทศการศึกษา
                กระบวนการนิเทศการศึกษา  หมายถึงการดำเนินการในการนิเทศให้ได้รับความสำเร็จ
                แฮริส  (Harris)  ได้กำหนดขั้นตอนของกระบวนการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้
·         1) ขั้นวางแผน (Planning) ได้แก่ การคิด การตั้งวัตถุประสงค์ การคาดการณ์ล่วงหน้าการกำหนดตารางงาน  การค้นหาวิธีปฏิบัติงาน  และการวางโปรแกรมงาน
·         2) ขั้นการจัดโครงการ (Organizing) ได้แก่ การตั้งเกณฑ์มาตรฐาน การรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งคนและวัสดุอุปกรณ์  ความสัมพันธ์แต่ละขั้น  การมอบหมายงาน  การประสานงาน  การกระจายอำนาจตามหน้าที่  โครงสร้างขององค์การ  และการพัฒนานโยบาย 
·         3) ขั้นการนำเข้าสู่การปฏิบัติ (Leading) ได้แก่ การตัดสินใจ การเลือกสรรบุคคล การเร้าจูงใจให้มีกำลังใจคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ  การสาธิต  การจูงใจ  และให้คำแนะนำ  การสื่อสาร  การกระตุ้น  ส่งเสริมกำลังใจ  การแนะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ และให้ความสะดวกในการทำงาน
·         4) ขั้นการควบคุม (Controlling) ได้แก่ การสั่งการ การให้รางวัล การลงโทษ การให้โอกาสการตำหนิ  การไล่ออก  และการบังคับให้กระทำตาม
·         5) ขั้นประเมินผล (Appraising) ได้แก่ การตัดสินการปฏิบัติงาน การวิจัย และการวัดผลการปฏิบัติงาน  กิจกรรมที่สำคัญ  คือพิจารณาผลงานในเชิงปฏิบัติว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด  และวัดผลด้วยการประเมินอย่างมีแบบแผน  มีความเที่ยงตรง  ทั้งนี้ควรจะมีการวิจัยด้วย
                จะเห็นว่า  กระบวนการนิเทศการศึกษาเป็นการทำงานอย่างมีแบบแผน  โดยเริ่มจากการวิเคราะห์งานการเรียนการสอนของครู   เพื่อจะได้ทราบปัญหา    ระบุปัญหาที่จะต้องรีบแก้ไขปรับปรุงก่อนหลังแล้วจึงวางแผนที่จะดำเนินการโดยหาทางเลือกที่จะแก้ปัญหาที่ดีที่สุด  ต่อจากนั้นก็ดำเนินการตามแนวขั้นตอนตามลำดับจนถึงขั้นการประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วจึงนำผลการปฏิบัติไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป
 ***********************
อ้างอิงบทความนี้  
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล :  http://panchalee.wordpress.com/2009/03/30/supervision/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น